วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทรัพยากรมนุษย์

มนุษย์อาศัยอยู่ในธรรมชาติและถูกควบคุมโดยธรรมชาติ แต่การที่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีมันสมองเป็นเลิศกว่าสัตว์อื่น สามารถพัฒนาไปได้ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา มนุษย์จึง
สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ทรัพยากรอื่นๆ จะมีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์สามารถทำงานหรือใช้พลังงานของตนให้เป็นประโยชน์ได้ ส่วนสติปัญญาของมนุษย์สามารถคิดค้น ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ความเจริญด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นหลัง พลังงานมนุษย์จะเหลืออยู่ในรูปของมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งแทนแรงมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ยานอวกาศ สมองกลต่างๆ ล้วนเกิดมาจากพลังงานทางสมองที่เป็นเลิศของมนุษย์ทั้งสิ้น หากพลังงานทางร่างกายของมนุษย์ไม่อำนวยจะด้วยความขาดแคลนโดยวิธีใดก็ตาม มรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากสติปัญญาของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ยากและคงไม่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันนี้ การคุ้มครองมนุษย์จึงต้องมุ่งเสริมสร้างพลเมืองให้เป็นคนมีประสิทธิภาพสูง มีมาตรฐานการศึกษาสูง มาตรฐานการครองชีพสูง สุขภาพสมบูรณ์ อนามัยดี อัตราการตายน้อย ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะมีประชากรส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสามารถ ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนามักมีปัญหาคุณภาพประชากร ประเทศที่กำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมีความต้องการประชากรที่มีความรู้ความสามารถ เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ ฯลฯ จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพัฒนาอย่างมาก

การสูญเสียทรัพยากรพลังงานมนุษย์ มีสาเหตุหลายประการ สรุปได้ดังนี้

1. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาพลังงานมนุษย์ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า มนุษย์ได้เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้สูญเสียพลังงานมนุษย์ไปโดยเปล่าประโยชน์

2. อุบัติเหตุ เป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียของพลังงานมนุษย์ที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอุบัติเหตุด้านการเดินทาง นำมาซึ่งความเสียหายทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย จิตใจ และชีวิตเป็นจำนวนมาก

3. ปัญหาอาชญากรรมและศีลธรรม มนุษย์พากันก้าวหน้าในด้านวัตถุ โดยขาดความสำนึกทางศีลธรรม คุณธรรม ประกอบกับจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การต่อสู้แข่งขันเอาตัวรอด ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัวเกิดช่องว่างทางชนชั้น เนื่องจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เท่ากัน เมื่อมีคนยากจน ปัญหาอาชญากรรมก็จะตามมา

4. ความเกียจคร้านและการเลือกงาน ในประเทศด้อยพัฒนาทั่วๆ ไป พบว่าประชาชนมีความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นในการประกอบกิจการงาน และมักเลือกงานที่สบาย ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอำนวย มีอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งไม่มีภัยอันตรายต่างๆ จากธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ไม่ได้นำพลังงานที่มีมาใช้อย่างเต็มที่

5. ภัยธรรมชาติ ปรากฎการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ย่อมทำให้พลังงานมนุษย์สูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ และยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อทรัพยากรอื่นๆ ที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

6. การสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ สุขภาพจิตเสื่อมโทรม สิ้นเปลืองงบประมาณ ทำลายพลังงานมนุษย์อย่างปราศจากเหตุผลและไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง

7. การเพิ่มขึ้นของประชากร เป็นผลดีในแง่ของการเพิ่มพลังงานมนุษย์ แต่ไม่ได้มีผลดีเสียทั้งหมด เพราะประชากรบางกลุ่มต้องอาศัยกำลังงานจากคนอื่น เช่น เด็ก คนชรา คนพิการ คนเกียจคร้าน เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดปัญหาให้กับสังคม

วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานมนุษย์

1. ป้องกันการว่างงาน

2. ป้องกันการเจ็บป่วย

3. การป้องกันการหย่อนสมรรถภาพช

4. ป้องกันการแก่ก่อนวัย

5. ป้องกันการตาย

6. การจัดการศึกษาให้ทั่วถึง

7. จัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

8. พัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม
ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ในปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติได้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากในสองลักษณะ คือ ประการแรก ทรัพยากรธรรมชาติลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะทรัพยากรชนิดนั้นถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์น้ำ เป็นต้น หรือได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้จำนวนลดลง เช่น การลดลงของสัตว์ป่า สัตว์ชายเลน เป็นต้น และ ประการที่สอง คุณภาพของทรัพยากรลดลงไปด้วยสาเหตุจากการนำมาใช้ประโยชน์ผิดวิธีได้รับสารปนเปื้อนหรือโดยธรรมชาติเอง เช่น ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากการกระทำของมนุษย์ และธรรมชาติเป็นสำคัญ
1. ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเนื่องมาจากมนุษย์ มนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติพอสรุปได้ดังนี้ 1.1 การเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่น ในปี 2516 โลกมีประชากร 3,860 ล้านคน (สมศักดิ์ โชคนุกูล, 2531) ปี 2533 เพิ่มเป็น 5,321 ล้านคน เพิ่มเป็น 6,292 ล้านคน ในปี 2543 (สถาบันประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533) และปัจจุบันมีจำนวนถึง 6,410 ล้านคน เป็นอัตราเพิ่มสูงถึงประมาณปีละ 80 - 90 ล้านคน ทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรกับโอกาสการได้ใช้ทรัพยากรมีแนวโน้มลดลงตลอดเวลา (คิดได้จากการนำปริมาณทรัพยากรเป็นตัวตั้งและหารด้วยจำนวนประชากร) แม้กระทั่งทรัพยากรประเภทอาหารซึ่งมนุษย์สามารถผลิตได้เอง การเพิ่มจำนวนประชากรเหล่านี้มีจุดน่าสนใจคือ อัตราการเพิ่มสูงในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มในอัตราต่ำมาก คาดกันว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวน 1,214 ล้านคน ในปี 2533 จะเพิ่มเป็น 1,274 ล้านคน ในปี 2543 และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีประชากรจำนวน 4,107 ล้านคน ในปี 2533 จะเพิ่มเป็น 5,018 ล้านคนในปี 2543 และ 5,300 ล้านคนในปี 2550 การเพิ่มจำนวนประชากรเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกขุดค้นหาและนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนประชากรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา จำนวนเกือบ 1,000 ล้านคน ในระยะเวลาสั้นเพียง 10 ปีเท่านั้น ประชากรเหล่านี้มีความสามารถในเชิงอุตสาหกรรมค่อนข้างต่ำ การพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจำนวนมากของประชากรกลุ่มนี้อาศัยในเขตร้อนซึ่งมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก การทำลายทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า การเสื่อมโทรมของดิน จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
1.2 การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นระบบเศรษฐกิจได้พัฒนาในลักษณะการขยายตัวมากขึ้น เพื่อคนจำนวนมากสามารถได้รับการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขนั่นหมายความว่าระบบเศรษฐกิจจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ตลอดจนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่น ๆ ซึ่งได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นอันดับแรก และถ้าหากต้องการให้มาตรฐานการดำรงชีพสูงขึ้นอีก นั่นหมายความว่าต้องเพิ่มอัตราการบริโภคต่อหัวให้สูงขึ้น และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตให้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ทัน จึงเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอัตราการผลิตสูง เมื่อมนุษย์เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงใด ก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการทำลายทรัพยากรมากขึ้นนั่นเอง เพราะวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต ตลอดทั้งระบบการแลกเปลี่ยนผลผลิต ส่วนมากได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลนทรัพยากรแต่ละชนิดในอนาคตยิ่งมีช่วงเวลาหดสั้นเข้ามาเร็วขึ้นกว่าที่คาดคะเนไว้แต่เดิมมาก
ทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการขยายตัวทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรอากาศ ทรัพยากรแร่ธาตุ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นต้น ปัญหาดินเสื่อมสภาพซึ่งเนื่องมาจากการที่มนุษย์ได้ทำการเพาะปลูกในที่ดินซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ทำให้แร่ธาตุและอินทรีย์สารจากดินหมดไปกลายเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่นการปลูกพืชไร่ที่ไม่มีปมรากที่สร้างไนโตรเจนตามธรรมชาติหรือที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่วบนพื้นดินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีมีผลทำให้ดินเสื่อม ทั้งนี้เพราะการปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานาน พืชจะใช้ธาตุอาหารตามธรรมชาติในดินซ้ำชนิดเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดินขาดธาตุอาหารบางประเภท จึงเป็นเหตุให้มีผลผลิตกต่ำ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการซับน้ำทำให้มีน้ำไหลบ่าหน้าดินมากขึ้น และอัตราการพัดพาดินจะสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ในวงการเกษตรแล้วว่า พืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นพืชที่ทำให้ดินเสื่อมเร็วกว่าปกติ ปัญหาอันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีการบุกเบิกนำมาใช้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาตามการขยายตัวของการอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่นั้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอื่นเสมอ เช่น

(1) การทำลายป่าไม้ การทำเหมืองแร่บนบกนั้นต้องมีการถางป่าเพื่อทำการขุดหรือระเบิดหินเปิดหน้าแหล่งแร่ในพื้นที่ป่าไม้ การทำลายป่านี้เองที่เป็นสาเหตุให้เกิคความแห้งแล้งหรือทำให้เกิดน้ำท่วมในภายหลัง

(2) การทำลายดิน เนื่องจากการทำเหมืองแร่จำเป็นจะต้องมีการขุดเจาะ ระเบิดหรือฉีดน้ำ เพื่อให้ได้แร่ออกมา ดังนั้นพื้นที่หลังจากการทำเหมืองแล้วจึงมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อและไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้อีกเลย เพราะดินชั้นบนซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ถูกทำลายหมดไปแล้ว

(3) การทำลายแหล่งน้ำ เนื่องจากตะกอนดินที่เกิดจากการทำเหมืองจะทับถมกันทำให้เกิดการตื้นเขินของทางน้ำธรรมชาติ น้ำจะขุ่นขึ้น ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคไม่ได้ เมื่อถึงฤดูฝนลำน้ำไม่สามารถที่จะรับน้ำได้หมด จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นอันตรายต่อเกษตรกรรมรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่าและมนุษย์ผู้ใช้น้ำนั้น

(4) การทำลายสัตว์น้ำ น้ำขุ่นที่ปล่อยจากเหมืองแร่ลงสู่แหล่งน้ำนั้นจะมีผลต่อสัตว์น้ำ เพราะจะไปทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และอากาศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำทุกชนิด นอกจากนี้การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการพัฒนาการเกษตรด้วยระบบชลประทาน เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรดิน เป็นต้น
1.3 วิถีทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและค่านิยมของมนุษย์แต่ละกลุ่มต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงไป เช่น การทำการเกษตรกรรมแบบไร่เลื่อนลอยของชาวเขาและประชากรในเขตร้อนทั่วโลก เกิดการทำลายป่าไม้บริเวณต้นน้ำเป็นจำนวนมาก วัฒนธรรมการบริโภคของชนชาติตะวันตกที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ประหยัดและเกินความจำเป็น การบ่งบอกฐานะทางสังคมโดยการแสดงออกทางวัตถุดังเช่น การสร้างบ้านเรือนขนาดใหญ่ใช้วัสดุสิ้นเปลือง การครอบครองรถยนต์หรือยานพาหนะอื่นจำนวนมาก การใช้กริชสืบตระกูลของชาวอาหรับซึ่งจะแสดงฐานะของตระกูลไว้ที่ด้ามและฝักของกริช คนที่ร่ำรวยและตระกูลสูงจะทำจากนอแรด ส่วนคนธรรมดาทำจากงาช้าง ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีผลต่อการลักลอบฆ่าสัตว์สองชนิดนี้ในทุ่งหญ้าของอาฟริกาอย่างกว้างขวาง หรือค่านิยมในสังคมไทยดั้งเดิมที่มีการยกย่องเกษตรกรที่เตรียมดินโดยการแผ้วถางให้เตียนโล่งว่าเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร บางคนเชื่อว่าการเผาซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวนั้นเป็นสิ่งดี การกระทำเหล่านี้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
1.4 ปัญหาเนื่องมาจากการรักษาความมั่นคง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีภาวะล่อแหลมทางการเมืองท เช่น กรณีความขัดแย้งกับประเทศข้างเคียง ความขัดแย้งในความเชื่อของลัทธิการเมือง เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงของประเทศ มีการตัดเส้นทางลำเลียงกำลังพล อาวุธ อาหารและยุทโธปกรณ์ ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นที่สูงมีป่าไม้หนาแน่นจะเป็นการสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็วทั้งในขณะดำเนินการและหลังจากวิกฤตการณ์ยุติลงแล้วก็ตาม ถ้าเหตุการณ์ลุกลามจนเกิดเป็นสงคราม ยิ่งจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากสงครามเวียดนาม ป่าไม้ถูกทำลายอย่างกว้างขวางจากการใช้สารเคมีของสหรัฐอเมริกา เพื่อไม่ให้เวียดนามมีที่หลบภัยและสามารถมองเห็นเป้าหมายได้ง่ายโดยเฉพาะบนเส้นทางสายโฮจิมินห์ และล่าสุดจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทรัพยากรน้ำมันถูกทำลายอย่างมากมาย จากการเผาบ่อน้ำมันในคูเวต 874 บ่อโดยทหารอิรัคและใช้เวลาในการดับไฟนานถึง 6 เดือน นอกจากนี้คราบน้ำมันจำนวนมากได้แพร่กระจายลงสู่อ่าวเปอร์เซียส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างมหาศาล
นอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายประการ เช่น การกีฬาล่าสัตว์ การตกปลา ถ้าทำในฤดูกาลไม่เหมาะสมจะทำลายทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์น้ำโดยตรง กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์ก่อปัญหาความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติเสมอ จากการทิ้งขยะมูลฝอย การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การคมนาคมขนส่งก็เป็นอีกประการหนึ่งที่สร้างผลเสียหายให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างจนกระทั่งเปิดใช้งานการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ล้วนแต่ต้องการพื้นที่เพื่อการก่อสร้างเส้นทางและสถานีบริการจำนวนมากอีกด้วย การสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แรงกระตุ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การสร้างสนามกอล์ฟ เพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยว เป็นอีกสาเหตุที่สำคัญด้วยความบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้เกิดการฉวยโอกาสและกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดทั้งนโยบายของรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางนโยบายอาจผิดพลาดหรือขาดการเอาจริงเอาจัง ทำให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติได้

ไม่มีความคิดเห็น: