วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทรัพยากรแร่ธาตุ

แร่เป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีความสำคัญและมีบทบาทที่สนองความต้องการ ทางด้านปัจจัยต่าง ๆ ของประชากร ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน ความสำคัญและประโยชน์ของแร่ธาตุที่จะนำมาใช้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาความเจริญทางเทคโนโลยี ตลอดจนความต้องการในการนำไปใช้ของมนุษย์
ทรัพยากรแร่ธาตุ ที่มนุษย์เราใช้ส่วนใหญ่มาจากแผ่นดิน ซึ่งค่อย ๆ ลดจำนวนลงทำให้มีการสำรวจค้นคว้าหาแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุใหม่ ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันได้มีการบุกเบิกหาแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุในทะเล เช่น น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระยะเวลาทำให้ความสำคัญของแร่ธาตุเปลี่ยนแปลงไปจากชนิดหนึ่งไปใช้อีกชนิดหนึ่ง เช่น จากการใช้ถ่านหินมาใช้น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากการใช้เหล็กมาใช้อลูมิเนียมแทน

แร่ธาตุ
แร่ (Mineral) คือ ธาตุแท้และสารประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ที่เฉพาะตัว เช่น สี ความวาว ความแข็ง หรือความเป็นแม่เหล็ก พวกสารประกอบมักประกอบด้วยธาตุออกซิเจน กำมะถัน หรือซิลิคอน พบมากกว่า 2,000 ชนิด ทั้งในดิน หิน น้ำ และในอากาศ โดยพบ 4 ลักษณะ คือ
สารประกอบอนินทรีย์ที่เป็นของแข็ง แร่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเช่นนี้สารประกอบอนินทรีย์ที่เป็นของเหลว มี 3 ชนิด คือ ปรอท โบรมีน และน้ำการประกอบอินทรีย์ที่เกิดจากการแปรสภาพของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ปิโตรเลียม และลิกไนต์ ธาตุแท้ ได้แก่ ทองคำ ทองคำขาว และเงิน

แหล่งกำเนิดแร่มาจาก

1.หินอัคนีเย็นตัวลง มักพบบริเวณภูเขาที่มีหินอัคนีแทรกอยู่
2.การผุพังของหินอัคนี
3.หินแปร(เกิดจากหินชั้นหรือหินอัคนีเปลี่ยนสภาพไป เพระาถูกความร้อนหรือความกดดันสูง)
4.หินชั้น เกิดจากการทับถมของสารแร่บางอย่าง หรือการตกตะกอนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแร่ของประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง บริเวณทิวเขาภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ ซึ่งมีหินแกรนิต แทรกตัวอยู่ในชั้นหิน จะมีแร่ดีบุกเป้นจำนวนมาก


ประเภทของแร่

แร่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์ นำมาใช้ประโยชน์มากมาย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. แร่โลหะ เป็นแร่ที่มีความเหนียว เป็นตัวทนความร้อน และไฟฟ้าได้ดีหลอมตัวได้ และมีความทึบแสง ได้แก่ แร่ดีบุก เหล็ก แมงกานีส ทองแดง ตะกั่ว อลูมิเนียม แมกนีเซียม ทองคำ เงิน วุลแฟรม ฯลฯ
2. แร่อโลหะ เป็นแร่ที่ไม่เป็นตัวนำความร้อนมีลักษณะโปร่งแสง เปราะแตกหักง่าย ได้แก่ ฟลูออไรท์ ฟอสเฟส หิน ทราย เกลือ กำมะถัน โปแตสเซียม แคลเซียม ดินขาว ฯลฯ
3. แร่พลังงาน หรือแร่เชื้อเพลิงเป็นแร่ที่สำคัญถูกนำมาใช้มากเกิดจากซากสิ่งมีชีวิตในอดีต ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ


ประโยชน์แร่

1. ประโยชน์ทางด้านความมั่นคง และมั่งคั่งของประเทศ ประเทศที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมายและสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นผลผลิตต่าง ๆ ที่ทำประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น ด้านอาวุธ ด้านอุตสาหกรรม
2. ประโยชน์ด้านความเป็นอยู่ของมนุษย์นำแร่ธาตุต่าง ๆ มาสร้างขึ้นเป็นภาชนะใช้สอยพาหนะที่ช่วยในการคมนาคม อาคารบ้านเรือน ก๊าซหุงต้ม พลังงานไฟฟ้า
3. ประโยชน์ด้านการสร้างงานแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการขุดแร่ ไปจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค
นอกจากนี้ แร่ธาตุชนิดต่าง ๆ มีคุณสมบัติลักษณะต่างกัน จึงมีประโยชน์แตกต่างกัน เช่น แร่วุลแฟรม นำมาทำไส้หลอดไฟฟ้า ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว แร่พลวงนำมาใช้ทำตัวพิมพ์หนังสือ ทำสี แบตเตอรี่ รัตนชาติ เป็นแร่ที่มีลักษณะสีสันสวยงาม นำมาใช้ทำเครื่องประดับต่าง ๆ มากมาย

ปัญหาทรัพยากรแร่

1. ปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ทำเหมืองแร่แล้วทำให้สภาพดินไม่อุดมสมบูรณ์ สกปรกพื้นที่ขรุขระมีหลุมบ่อมากมายจึงถูกปล่อยทิ้งใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่
2. ปัญหาการใช้แร่ธาตุบางประเภทเป็นจำนวนมาก เช่น แร่เหล็กถูกนำมาใช้มากและแพร่หลายที่สุด ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม ดีบุก ฯลฯ
3. ปัญหาการใช้แร่ไม่คุ้มค่า ได้แก่ พวกแร่ที่ใช้แล้วยังเหลืออยู่ ยังสามารถนำกลับไปใช้อีก เช่น เหล็ก ส่วนแร่ที่นำไปใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เราจึงต้องใช้อย่างคุ้มค่า และประหยัด

การอนุรักษ์แร่ธาตุ

ดังได้กล่าวมาแล้วถึงทรัพยากรแร่ธาตุในปัจจุบันซึ่งกำลังประสบปัญหาหากไม่มีการป้องกันแก้ไข ดังนั้นการอนุรักษ์แร่ธาตุจึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยได้ดังต่อไปนี้
1. การใช้แร่ธาตุอย่างประหยัด ในการทำเหมืองแร่บางอย่างนั้นบางทีทรัพยากรแร่ธาตุที่ได้มาอาจมีหลายชนิด ดังนั้นจึงควรจะพยายามใช้ให้คุ้มค่าทุกชนิด อย่างประหยัดและลดการสูญเปล่า
2. การสำรวจแหล่งแร่ ควรมีการเร่งรัดการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
3. การใช้แร่ชนิดอื่นทดแทน พยายามหาแร่ธาตุอื่น ๆ มาใช้ทดแทนแร่ที่ใช้กันมาก อาทิการใช้อลูมิเนียมแทนเหล็ก
4. นำแร่ที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ควรมีการนำแร่ที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก อาทิ ภาชนะเครื่องใช้ที่เป็นอลูมิเนียมบางอย่างที่หมดสภาพการใช้แล้วสามารถนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ได้อีก


ทรัพยากรป่าไม้



"ป่าไม้" หมายถึง ถิ่นที่อยู่อาศัยร่วมกันของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์นานาชนิดรวมทังจุลชีพทั้งมวลต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยต้นไม้อันขึ้นอยู่บนพื้นดิน และมีรากยึดเหนี่ยวอยู่ใต้ดิน ป่าไม้เป็นสิ่งที่ปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ และสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์


ประโยชน์ของป่าไม้

1.มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่นที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น

2.มีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งประกอบอาชีพ และหารายได้ของมนุษย์

3.มีประโยชน์ในการท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ

4.มีประโยชน์ด้านนิเวศน์วิทยา เช่น ช่วยป้องกันการพังทลายของดินช่วยรักษาต้นน้ำลำธาร ป้องกันน้ำท่วม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า


ประเภทของป่า

ป่ามีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศป่าไม้แบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ

1.ป่าไม้ไม่ผลัดใบ เป็นป่าที่มีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปีที่เรียกว่า Evergreen tree ป่าไม้ที่จัดเป็นป่าผลัดใบได้แก่
1.1.ป่าดงดิบ เป็นป่าทึบในเขตร้อนมีพันธุ์ไม้มากมายหนาแน่น ทำให้แดดส่องถึงพื้นน้อยมาก ต้นไม่ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ใหญ่ใบกว้าง ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง ตะเคียน ตะบาก เป็นต้น และมีไม้เล็ก เช่น ไผ่ ระกำ หวาย เป็นต้น
1.2.ป่าดิบเขา เป็นป่าที่มีสภาพคล้ายป่าดงดิบ แต่มีความรกน้อยกว่า ซึ่งพบตามบริเวณภูเขามีระดับสูง 1000 เมตร ไม้ที่สำคัญได้แก่ ต้นก่อ มะขามป้อม ดงหว้า จำปีป่า เป็นต้น
1.3.ป่าสนเขา จัดเป็นป่าผลัดใบ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ แต่มีใบเล็กเรียว พันธุ์ไม้สนพื้นเมืองของไทย ได้แก่สนสองใบและสนสามใบ เป็นป่าอยู่บนภูเขาสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป
1.4.ป่าชายเลน เป็นป่าตามชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลน ต้นไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้มักมีลักษณะพิเศษ เช่นมีรากอากาศโผล่พ้นขึ้นมาบนดินเลน หรือมีรากงอกจากส่วนของลำต้นมาช่วยพยุงลำต้น ต้นไม้เขตนี้ชอบน้ำเค็ม เช่น โกงกาง แสมทะเล ปาง ตะบูน ลำพู เป็นต้น

2.ป่าไม้ผลัดใบ ต้นไม้ในป่าชนิดนี้จะสลัดใบในฤดูแล้ง ป่าไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มพวกนี้ได้แก่
2.1.ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้หลายขนาดรวมกันขึ้นอยู่ห่างๆไม่รกทึบ บางแห่งมีทุ่งหญ้าและไม้ไผ่ขึ้นอยู่ด้วย ต้นไม้สำคัญได้แก่ สัก ประดู่ แดง ตะแบก เสลา มะค่าโมง เป็นป่าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูงมาก
2.2.ป่าแดง ( ป่าโคก ป่าแพะ ป่าเต็งรัง ) เป็นป่าโปร่งต้นไม้ไม่หนาแน่น มีทุ่งหญ้าสลับ ป่าชนิดนี้ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะเป็นป่าในเขตอากาศแห้งแล้ง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ คือ เต็ง รัง เทียง พลวง พะยอม มะค่า ฯลฯ

3.ป่าชนิดอื่นๆ เป็นป่าที่มีความสำคัญน้อย เช่น
3.1.ป่าพรุ เป็นปาที่พบตามบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำขัง ป่าพรุน้ำจืดอยู่ตามขอบแอ่งหนองบึง และที่ราบชายฝั่งทะเลจะพบป่าพรุน้ำกร่อย ป่าพรุน้ำจืดมีต้นสนุ่น จิก หวายน้ำ อ้อ และแขม ส่วนป่าพรุน้ำกร่อยมีไม้สำคัญได้แก่ เสม็ด และกก
3.2.ป่าชายหาด คือ ป่าตามบริเวณหาดชายทะเลที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม้ที่สำคัญได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพทะเล กระทิง ตีนเป็ดทะเล เป็นต้น
ปัญหาที่เกี่ยวกับป่าไม้
ป่าไม้ที่ถูกทำลายจำนวนมากโดยวิธีต่างๆ เช่น การตัดไม้จำนวนมาก การเผาป่า ฯลฯ เพื่อนำไม้มาใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อพื้นที่ทำการเกษตร เป็นต้น


ประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้

ป่าไม้มีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่. ประโยชน์ทางตรง (Direct Benefits) ได้แก่ ปัจจัย 4 ประการ

1. จากการนำไม้มาสร้างอาคารบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ไม้ขีดไฟ ฟืน เป็นต้น
2. ใช้เป็นอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืชและผล
3. ใช้เส้นใย ที่ได้จากเปลือกไม้และเถาวัลย์มาถักทอ เป็นเครื่องนุ่งห่ม เชือกและอื่น ๆ
4. ใช้ทำยารักษาโรคต่าง ๆ

ประโยชน์ทางอ้อม

1. ป่าไม้เป็นเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพราะต้นไม้จำนวนมากในป่าจะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาค่อย ๆ ซึมซับลงในดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินซึ่งจะไหลซึมมาหล่อเลี้ยงให้แม่น้ำ ลำธารมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี
2. ป่าไม้ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและควบคุมสภาวะอากาศ ไอน้ำซึ่งเกิดจากการหายใจของพืช ซึ่งเกิดขึ้นอยู่มากมายในป่าทำให้อากาศเหนือป่ามีความชื้นสูงเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงไอน้ำเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นเมฆแล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ทำให้บริเวณที่มีพื้นป่าไม้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝนตกต้องตามฤดูกาลและไม่เกิดความแห้งแล้ง
3. ป่าไม้เป็นแหล่งพักผ่อนและศึกษาความรู้ บริเวณป่าไม้จะมีภูมิประเทศที่สวยงามจากธรรมชาติรวมทั้งสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้ดี นอกจากนั้นป่าไม้ยังเป็นที่รวมของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งให้มนุษย์ได้ศึกษาหาความรู้
4. ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย โดยช่วยลดความเร็วของลมพายุที่พัดผ่านได้ตั้งแต่ ๑๑-๔๔ % ตามลักษณะของป่าไม้แต่ละชนิด จึงช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวาตภัยได้ซึ่งเป็นการป้องกันและควบคุมน้ำตามแม่น้ำไม่ให้สูงขึ้นมารวดเร็วล้นฝั่งกลายเป็นอุทกภัย
5. ป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะและพัดพาหน้าดิน จากน้ำฝนและลมพายุโดยลดแรงปะทะลงการหลุดเลือนของดิ

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

1.ออกกฏหมายคุ้มครองป่าไม้
2.ควบคุมดูแลการตัดไม้ เพื่อป้องกันการสูญเสียป่า
3.การปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าไม้ธรรมชาติ
4.ป้องกันไฟไหม้ป่า และแมลงทำลายต้นไม้
5.ใช้ไม้อย่างประหยัด และทำวัสดุอื่นมาใช้ทดแทนไม้

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทรัพยากรสัตว์ป่า

สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ และเป็นองค์ประกอบที่เป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศ แต่การที่สัตว์ชนิดใดๆ สูญพันธ์ไปนั้น จะไม่ส่งผลกระทบมาสู่ระบบนิเวศให้เราเห็นอย่างชัดเจนในเวลาอันสั้น และเป็นการยากที่จะพิสูจน์ถึงผลกระทบจากการทำลายระบบนิเวศ
อย่างชัดเจน

ประเภทของสัตว์ป่า

เพื่อเป็นการปกป้องรักษาสัตว์ป่าให้มีชีวิตสืบต่อไปถึงอนุชนรุ่นหลังจึงมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ภูมิพลอดุลเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน แบ่งสัตว์ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ป่าที่หายากและปัจจุบันมีจำนวนน้อยมากบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วมีอยู่ 15 ชนิด คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมันหรือ เนื้อสมัน เลียงผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อและพะยูนหรือหมูน้ำ
2. สัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ทั้งที่ปกติไม่นิยมใช้เป็นอาหารและใช้เป็นอาหารทั้งที่ไม่ใช่ล่าเพื่อการกีฬาและล่าเพื่อการกีฬา ตามที่กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ มากกว่า 200 ชนิด เช่น ค่าง ชะนี อีเห็น ไก่ฟ้า เหยี่ยว ช้างป่า แร้ง กระทิง กวาง หมีควาย อีเก้ง นกเป็ดน้ำ เป็นต้น
บทลงโทษ ทั้งสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่ามีไว้ในครอบครอง ค้าขายและนำเข้าหรือส่งออก หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คุณค่าของสัตว์ป่า

สัตว์ป่าอำนวยประโยชน์นานาประการให้แก่มนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นไปในทางอ้อมมากกว่าทางตรงจึงทำให้มองไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสัตว์ป่าเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ป่าไม้ น้ำ และแร่ธาตุ เป็นต้น ตัวอย่างคุณค่าของสัตว์ป่า เป็นต้นว่า
1. ด้านเศรษฐกิจ ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่มนุษย์ได้จากสัตว์ป่าก็ได้แก่การค้าสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่าโดยเฉพาะหนังสือป่าในปีหนึ่ง ๆ ทำรายได้ให้กับประเทศและมีเงินหมุนเวียนภายในประเทศจำนวนไม่น้อย คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจจะรวมถึงรายได้ต่าง ๆ จากการท่องเที่ยวในการชมสัตว์ด้วย
2. การเป็นอาหาร มนุษย์ได้ใช้เนื้อของสัตว์ป่าเป็นอาหารเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดก็ได้พัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นเลี้ยงไป สัตว์ป่าหลายชนิดตามธรรมชาติคนก็ยังนิยมใช้เนื้อเป็นอาหารอยู่ เช่น หมูป่า เก้ง กวาง กระจง กระทิง นกเขาเปล้า นกเป็ดน้ำ ตะกวด แย้ เป็นต้น อวัยวะของสัตว์ป่าบางอย่าง เช่น นอแรด กระโหลก เลียงผา เขากวางอ่อน เลือดและกระเพาะค่าง ดีของหมี ดีงูเห่า ก็ยังมีผู้นิยมดัดแปลงเป็นอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพรอีกด้วย
3. เครื่องใช้เครื่องประดับ นอกจากเนื้อของสัตว์ป่าและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่าจะใช้เป็นอาหารและยาแล้ว อวัยวะบางอย่างของสัตว์ป่าก็ยังใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย เช่น หนังใช้ทำกระเป๋า รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม งาช้าง ใช้เป็นเครื่องประดับ กระดูก เขาสัตว์ใช้ทำด้ามมีดด้ามเครื่องมือ หรือแกะสลักต่าง ๆ เป็นต้น
4. การนันทนาการและด้านจิตใจ นับเป็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสัตว์ป่า แต่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้โดยง่าย การท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าในสวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและแหล่งสัตว์ป่าอื่น ๆ นับเป็นเรื่องนันทนาการทั้งสิ้นเช่นเดียวกับการสงสารสัตว์ป่าที่ถูกทรมาน กักขัง หรืออื่นใดก็ตามที สัตว์อยู่อย่างไม่ผาสุกก็เป็นเรื่องจิตใจ รวมตลอดทั้งการท่องเที่ยวป่าเห็นสัตว์ป่าหรือไม่เห็นสัตว์ป่า ซึ่งควรประดับความงามตามธรรมชาติเป็นทั้งนันทนาการและด้านจิตใจทั้งสิ้น
5. ด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และการแพทย์ สัตว์ป่านับมีคุณค่าใหญ่หลวงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาและแพทย์ ประสบผลสำเร็จในด้านการค้นคว้าทดลองต่าง ๆ โดยขั้นแรกเขาทดลองกับสัตว์ป่าเสียก่อน เช่น ทดลองกับหนู กระแต ลิง จากนั้นจึงนำไปใช้กับคนการค้นคว้า ทดลองเหล่านี้หากไม่มีสัตว์ป่าเป็นเครื่องทดลองก่อนแล้ว ก็อาจจะมีผลสะท้อนถึงคนอย่างมาก

6. เป็นตัวควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สัตว์ป่านับได้ว่าเป็นตัวควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ด้วยกันเอง ทำให้ผลกระทบต่อคนบรรเทาเบาบางลงไปไม่มากก็น้อย เช่น ค้างคาวกินแมลง นกฮูกและงูสิงกินหนูต่าง ๆ นกกินตัวหนอนที่ทำลายพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีสัตว์ป่าต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วคนอาจจะต้องเสียเงินทองจำนวนมากกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบันที่จะต้องกำจัดศัตรูทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้
7. คุณค่าของสัตว์ป่าต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ คนส่วนใหญ่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้นว่า ป่าไม้ทำให้สัตว์ป่ามีที่อยู่อาศัย เป็นอาหาร และเป็นที่หลบภัย ป่าไม้ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ป้องกันการกัดเซาะของน้ำ ลม ป่าไม้ช่วยทำให้มีน้ำไหลตลอดปี น้ำใสสะอาดปราศจากตะกอน ป่าไม้ช่วยทำให้ฝนตก บรรเทากระแสลมพายุ ป่าไม้ทำให้อากาศไม่ร้อนไม่หนาว ป่าไม้เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุและป่าไม้ทำให้มนุษย์ได้ใช้สอย ขาดป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ก็อยู่ไม่ได้ ทำนองเดียวกันกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่คนจะมองเห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ยกเว้นสัตว์ป่ามักจะมองเห็นเฉพาะต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว สัตว์ป่าก็มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ไม่น้อยเช่นเดียวกัน อย่างเช่นทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ก็มีส่วนช่วยหลายอย่าง เช่น
7.1 สัตว์ป่าช่วยทำลายศัตรูป่าไม้ ต้นไม้ในป่าจะมีศัตรูตามธรรมชาติเสมอ ๆ เช่น โรคและแมลง เป็นต้น แต่ศัตรูเหล่านี้จะไม่ระบาด โดยเฉพาะแมลงหากมีตัวทำลายสัตว์ป่าหลายชนิดเป็นตัวกำจัดแมลงนอกจากที่กล่าวไปแล้วก็มี เช่น นกหัวขวาน นกไต่ไม้ จะกินแมลงและตัวหนอน ตามลำต้น นกกินแมลง นกจับแมลง จะกินแมลงที่มาทำลายใบ ดอก และผล ตุ่น หนูผี จะกินหนอนที่มากินรากและลำต้นใต้ดิน หากปราศจากสัตว์เหล่านี้แล้วต้นไม้จะได้รับความเสียหายและอาจจะตายในที่สุด
7.2 สัตว์ป่าช่วยผสมเกสรดอกไม้ ต้นไม้ผสมเกสรได้นั้นอาศัยปัจจัยหลายอย่างช่วย เช่น ลม และแมลงสำหรับสัตว์ป่าบางชนิดก็เป็นตัวที่ช่วยผสมเกสรด้วย เช่น นกกินปลี นกปลีกล้วย และค้างคาวกินน้ำหวานดอกไม้ เป็นต้น สัตว์ป่าเหล่านี้จะช่วยผสมเกสรดอกไม้ในขณะที่กินน้ำหวานดอกไม้จากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งหรือจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง ทำนองเดียวกับลมและแมลงดังกล่าวแล้ว
7.3 สัตว์ป่าช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกขุนทอง นกเงือก ค้างคาวบางชนิด ลิง ค่าง ชะนี กวาง เก้ง กระทิง วัวแดง เป็นต้น จะกินผลไม้เป็นอาหาร แล้วคายหรือถ่ายเมล็ดออกมาตามที่ต่าง ๆ เมล็ดไม้บางชนิดไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการผ่านกระเพาะของสัตว์เหล่านี้ก็เท่ากับสัตว์ป่าช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ไปในที่ต่าง ๆ ที่สัตว์ท่องเที่ยวไปแล้วคายหรือถ่ายเมล็ดไม้ออกมา
7.4 สัตว์ป่าช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มูลของสัตว์เกือบทุกชนิดใช้เป็นปุ๋ยได้อย่างดี เท่ากับเพิ่มความ อุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ในขณะเดียวกันเมื่อสัตว์ป่าตายลง ซากของสัตว์ป่าก็จะกลายเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เกิดปัญหาการดัดแปลงมูลของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น มูลของค้างคาว ซึ่งมีอยู่มากมายตามถ้ำต่าง ๆ ให้ใช้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ทุกวันนี้แม้ว่าจะใช้มูลค้างคาวเป็นปุ๋ยอยู่บ้าง ก็อยู่เฉพาะในวงจำกัด ในปัจจุบันวงการป่าไม้เองก็ต้องใช้ปุ๋ยในสวนป่าเหมือนกันทั้งนี้เนื่องจากการทำงานสัตว์ป่าออกไปเกือบหมดป่านั่นเอง


ปัญหาทรัพยากรสัตว์ป่า

ในปัจจุบันสัตว์ป่ามีจำนวนลดน้อยลงมาก ชนิดที่สมัยก่อนมีอยู่ชุกชุมก็ไม่ค่อยได้พบเห็นอีกบางชนิดก็ถึงกับสูญพันธุ์ไปเลย ปัญหานี้สาเหตุมาจาก
1. ถูกทำลายโดยการล่าโดยตรงไม่ว่าจะล่าเพื่ออาหารหรือเพื่อการกีฬาหรือเพื่ออาชีพ
2. การสูญพันธุ์หรือลดน้อยลงไปตามธรรมชาติของสัตว์ป่าเอง ถ้าหากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมได้ หรือจากสาเหตุภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า
3. การนำสัตว์ป่าต่างถิ่น (Exotic aminal) เข้าไปในระบบนิเวศสัตว์ป่าประจำถิ่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความสมดุลของสัตว์ป่าประจำถิ่นจนอาจเกิดการสูญพันธุ์
4. การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งก็ได้แก่การที่ป่าไม้ถูกทำลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยถาก ถางและเผาเพื่อทำการเกษตรกิจกรรมการพัฒนา เช่น การตัดถนนผ่านเขตป่า การสร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ก็เสียชีวิตขณะที่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย
5. การสูญเสียเนื่องจากสารพิษตกค้าง เมื่อเกษตรกรใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เช่น ยาปราบศัตรูพืชจะทำให้เกิดการสะสมพิษในร่างกายทำให้บางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ได้

การอนุรักษ์สัตว์ป่า

สัตว์ป่ามีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงคนเราด้วยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จึงต้องมีวิธีการป้องกันและแก้ไขไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่า ดังนี้
1. กำหนดกฎหมายและวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ป่าเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ให้มีมากเพียงพอ
2. การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง
3. การไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่ควรมีการล่าสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครองเพราะปัจจุบันสัตว์ป่าทุกชนิดได้ลดจำนวนลงอย่างมากทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ
4. การป้องกันไฟป่า ไฟป่านอกจากจะทำให้ป่าไม้ถูกทำลายแล้วยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย
5. การปลูกฝังการให้ความรัก และเมตตาต่อสัตว์อย่างถูกวิธีสัตว์ป่าทุกชนิดมีความรักชีวิตเหมือนกับมนุษย์ การฆ่าสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นการทรมานสัตว์ป่า ซึ่งมักไม่มีชีวิตรอด
6. การเพาะพันธุ์เพิ่มสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือมีจำนวนน้อยลง ควรมีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนและเร่งให้มีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น


ประโยชน์ของสัตว์ป่า


สัตว์ป่าให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนี้
1) ประโยชน์ทางตรง

1.1) ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่การใช้เนื้อเป็นอาหารและเพื่อการค้า อันนี้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์อย่างอื่นจากสัตว์เช่น เขา หนัง ขน ฯลฯ ด้วย

1.2) ประโยชน์ทางด้านการพักผ่อนและการกีฬา บางประเทศมีการเปิดให้ล่าสัตว์ป่าบางชนิดในบางฤดูกาลเพื่อการกีฬา ประโยชน์ทางด้านนี้หมายรวมถึงการถ่ายรูปสัตว์ป่า การส่องดูสัตว์ป่าตามธรรมชาติเช่นการดูนก, การดำน้ำชมปะการัง เป็นต้น
1.3) ประโยชน์และคุณค่าด้านพันธุกรรม การนำสัตว์ป่ามาผสมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงเพื่อปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มฐานทางพันธุกรรมให้กว้างขึ้น

1.4) ประโยชน์ด้านการค้นคว้าและวิจัย เช่นการทดลองวัคซีนและยาในสัตว์บางชนิดเช่นลิง หนู

1.5) ประโยชน์ทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่การให้ของขวัญแก่กันเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีด้วย สัตว์ป่า เช่นประเทศจีนนิยมใช้หมีแพนด้าเป็นของขวัญให้กับประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและการค้า

ประโยชน์ทางอ้อม

ได้แก่ประโยชน์ในแง่ที่สัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ มีบทบาทในด้านการถ่ายทอดพลังงานและธาตุอาหาร สัตว์ป่ามีความสำคัญต่อมนุษย์มากมาย ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่กับธรรมชาติในป่า ยิ่งในสมัยปัจจุบันเมื่อมนุษย์เจริญขึ้น สัตว์ป่าก็ยิ่งมีบทบาทและเพิ่มความสำคัญแก่มนุษย์มากขึ้นตามลำดับ พอจะสรุปได้ดังนี้

(1) ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันยังนิยมใช้เนื้อสัตว์เป็นอาหาร การใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่า เช่น เขา ขน หนัง เป็นต้น หรือแม้แต่ตัวของสัตว์ป่าเองก็ตาม มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่มีความสวยงาม สีสันแปลกตา และหายาก จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไป สัตว์เหล่านี้ถูกซื้อไปเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์บ้าง นำไปเลี้ยงเป็นการส่วนตัวบ้าง อาชีพการค้าสัตว์ป่าจึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ค้าอย่างงดงาม ถ้าหากขาดการควบคุมดูแลให้รัดกุมแล้ว ย่อมทำให้เกิดผลเสียขึ้นได้ คือ ทำให้ปริมาณสัตว์ป่าลดลงจนอาจสูญพันธ์ หรือทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติต้องเสียไป อันเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจในทางอ้อม
(2) ประโยชน์ในด้านวิชาการ การค้นคว้าทดลองในด้านวิทยาศาสตร์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ในปัจจุบันมีหลายสาขาวิชาจำเป็นต้องอาศัยสัตว์ป่าเป็นเครื่องมือสำคัญ จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆในยุโรปและอเมริกา ได้สั่งซื้อสัตว์ป่าจากประเทศไทยไปใช้ในการค้นคว้าทดลองเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นการนำเอาสัตว์ป่าไปเลี้ยงในสวนสัตว์ เพื่อให้ประชาชน นักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ได้ชมและศึกษาถึงชีวิตของสัตว์ป่า นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นรักษาชนิดพันธ์สัตว์หายากบางชนิดไม่ให้ต้องถูกล่าจนสูญพันธ์ไป
(3) ประโยชน์ในด้านรักษาความงามและคุณค่าทางจิตใจ สัตว์ป่าทำให้ธรรมชาติมีชีวิตชีวา มีสีสัน เกิดความสุขทางจิตใจ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางประสาทได้เป็นอย่างดี
(4) ประโยชน์ด้านการพักผ่อนหย่อนใจ มนุษย์เราเมื่ออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ มีธุรกิจการงานต่างๆ มากมาย ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย จึงมักหาโอกาสไปพักผ่อนหย่อนใจตามท้องที่ต่างๆ ที่มีธรรมชาติสวยงาม ซึ่งจะช่วยคลายความเหน็ดเหนื่อยจากงานต่างๆ ไปได้ สาเหตุสำคัญหลายประการพอสรุปได้ดังนี้

(1) การทำลายสภาพป่าไม้ มีการนำเอาทรัพยากรป่าไม้มาใช้ประโยชน์อย่างมากในรูปของไม้และผลิตผลของป่าไม้ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าอย่างมาก เนื่องจากสัตว์ป่าต้องการพื้นที่ป่าไม้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหาร น้ำ ที่หลบภัย และพื้นที่เพื่อกิจกรรมอื่นๆ สาเหตุดังกล่าวจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณของสัตว์ป่าในธรรมชาติ
(2)การใช้ประโยชน์สัตว์ป่าและการลักลอบล่าสัตว์ เนื่องจากสัตว์ป่าสามารถอำนวยประโยชน์และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในด้านต่างๆได้จึงทำให้มีการลักลอบล่าสัตว์และส่งผลให้ปริมาณสัตว์ป่าลดจำนวนลง
(3)การใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชเกินความจำเป็นทำให้ฝนชะล้างส่วนที่เกินให้แพร่กระจายลงไปสะสมอยู่ในดินและแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องไปจนถึงแม่น้ำ ลำคลอง ปากแม่น้ำทะเลและมหาสมุทรจนส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าบริเวณใกล้เคียง
(4)การทำลายปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าเช่นการประกอบการอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การสร้างถนนเขื่อนอ่างเก็บน้ำฯลฯล้วนแต่สร้างผลกระทบด้านลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสัตว์ป่าทั้งสิ้น
(5) การนำพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในประเทศเกิดปัญหาการแย่งพื้นที่สัตว์ประจำท้องถิ่นและการเสียสมดุลของระบบนิเวศ
(6) ความเชื่อถือและค่านิยมทางสังคม เช่น การใช้นอแรดและเขากวางอ่อนเป็นยารักษาโรคบางชนิด หรือการนิยมสะสมอวัยวะส่วนต่างๆ ของสัตว์ เช่น เขา หนัง หัวกะโหลก งา เขี้ยว เป็นต้น ( มีชัย วรสายัณห์ , 2535 )

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ


ก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติ เป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำมัน ที่จริง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก็คือ ซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมกันมานานหลายแสนหลายล้านปี และทับถมสะสมกัน จนจมอยู่ใต้ดิน แล้วเปลี่ยนรูปเป็นสิ่งที่เรียกว่า ฟอสซิล ระหว่างนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จนซากสัตว์และซากพืชหรือฟอสซิลนั้นกลายเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ในที่สุด เราจึงเรียกเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล
ในทางวิทยาศาสตร์ เรารู้กันดีว่า ต้นพืชและสัตว์ รวมทั้งคน ประกอบด้วยเซลล์เล็กๆ มากมาย เซลล์เหล่านี้ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจนและธาตุคาร์บอนเป็นหลัก เวลาซากสัตว์และซากพืชทับถมและเปลี่ยนรูปเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน พวกนี้จึงมีองค์ประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อนำไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้มาเผา จะให้พลังงานออกมาแบบเดียวกับที่เราเผาฟืน เพียงแต่เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ให้ความร้อนมากกว่า


องค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติมีก๊าซหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน ฯลฯ แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 70 ขึ้นไป ก๊าซพวกนี้เป็นสารไฮโดรคาร์บอนทั้งสิ้น เมื่อจะนำมาใช้ ต้องแยกก๊าซออกจากกันเสียก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ นอกจากสารไฮโดรคาร์บอนแล้ว ก๊าซธรรมชาติยังอาจประกอบด้วยก๊าซอื่นๆ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน และน้ำ เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้สามารถแยกออกจากกันได้ โดยนำมาผ่านกระบวนการแยกที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซที่ได้แต่ละตัวนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้อีกมากมาย

ประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ


เราสามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติได้ใน 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
ใช้เป็นเชื้อเพลิงเราสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง ด้วยการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า หรือในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ ฯลฯ และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงก็สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ เรียกว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles - NGV)
นำไปผ่านกระบวนการแยกในโรงแยกก๊าซเพราะในตัวเนื้อก๊าซธรรมชาติ มีสารประกอบที่เป็นประโยชน์อยู่มากมาย เมื่อนำมาผ่านกระบวนการแยกที่โรงแยกก๊าซแล้ว ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ดังนี้
· ก๊าซมีเทน (C1) : ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รู้จักกันในชื่อว่า "ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์" (Natural Gas for Vehicles : NGV)
· ก๊าซอีเทน (C2) : ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น สามารถนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่างๆ เพื่อนำไปใช้แปรรูปต่อไป
· ก๊าซโพรเพน (C3) และก๊าซบิวเทน (C4) : ก๊าซโพรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นได้เช่นเดียวกัน และหากนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนมาผสมกัน อัดใส่ถังเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) หรือที่เรียกว่าก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ และใช้ในการเชื่อมโลหะได้ รวมทั้งยังนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย
· ไฮโดรคาร์บอนเหลว (Heavier Hydrocarbon) อยู่ในสถานะที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เมื่อผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิต สามารถแยกจากไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซบนแท่นผลิต เรียกว่า คอนเดนเสท (Condensate) สามารถลำเลียงขนส่งโดยทางเรือหรือทางท่อ นำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป
· ก๊าซโซลีนธรรมชาติ : แม้ว่าจะมีการแยกคอนเดนเสทออกเมื่อทำการผลิตขึ้นมาถึงปากบ่อบนแท่นผลิตแล้ว แต่ก็ยังมีไฮโดรคาร์บอนเหลวบางส่วนหลุดไปกับไฮโดรคาร์บอนที่มีสถานะเป็นก๊าซ เมื่อผ่านกระบวนการแยกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติแล้ว ไฮโดรคาร์บอนเหลวเหล่านี้ก็จะถูกแยกออก เรียกว่า ก๊าซโซลีนธรรมชาติ หรือ NGL (natural gasoline) และส่งเข้าไปยังโรงกลั่นน้ำมัน เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปได้เช่นเดียวกับคอนเดนเสท และยังเป็นตัวทำละลายซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทได้เช่นกัน
· ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ : เมื่อผ่านกระบวนการแยกแล้ว จะถูกนำไปทำให้อยู่ในสภาพของแข็ง เรียกว่าน้ำแข็งแห้ง นำไปใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำอัดลมและเบียร์ ใช้ในการถนอมอาหารระหว่างการขนส่ง นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำฝนเทียม และนำไปใช้สร้างควันในอุตสาหกรรมบันเทิง อาทิ การแสดงคอนเสิร์ต หรือ การถ่ายทำภาพยนตร์
คุณสมบัติทั่วไปของก๊าซธรรมชาติ

เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง เกิดจากการทับถมของสิ่งมีชีวิตนับล้านปี
เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นหลัก
ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ปราศจากพิษ (ส่วนมากกลิ่นที่เราคุ้นเคยจากก๊าซธรรมชาติเป็นผลมาจากการเติมสารเคมีบางประเภทลงไป เพื่อให้ผู้ใช้รู้ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ก๊าซรั่ว)
เบากว่าอากาศ (ความถ่วงจำเพาะ 0.5-0.8 เท่าของอากาศ)
ติดไฟได้ โดยมีช่วงของการติดไฟที่ 5-15% ของปริมาตรในอากาศ และอุณหภูมิที่สามารถติดไฟได้เองคือ 537-540 องศาเซลเซียส คุณประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ
เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่นำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีการเผาไหม้สมบูรณ์
ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
มีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน เนื่องจากเบากว่าอากาศ จึงลอยขึ้นเมื่อเกิดการรั่ว
มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่นๆ เช่น น้ำมัน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยผลิตได้เองจากแหล่งในประเทศ จึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆ และประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มาก

อันตรายเนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัว

ความไม่มีพิษ โดยทั่วไปก๊าซธรรมชาติ จะไม่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ในกรณีที่ก๊าซธรรมชาติมีก๊าซไข่เน่า (ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์) เจือปนอยู่มาก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ได้สัมผัสหรือสูดหายใจเอาก๊าซนั้นได้ เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จะทำลายเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เยื่อตา เนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจและปอด
ไฟไหม้ / ระเบิด (fire / explosion) ก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซติดไฟ กรณีที่มีก๊าซรั่วไหลผสมกับอากาศ อาจจะก่อให้เกิดการลุกไหม้ได้ ถ้าอัตราส่วนผสมของก๊าซและอากาศพอเหมาะจะติดไฟ และมีแหล่งความร้อนหรือเปลวไฟหรือประกายไฟในบริเวณนั้น นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดการระเบิดได้ ถ้าเกิดการสะสมของก๊าซธรรมชาติในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะที่อับต่างๆ เช่น ภายในอาคารสถานที่ไม่มีการระบายอากาศที่ดีพอ


ทรัพยากรดิน

ดินเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่าง ๆ โดยใช้เวลาที่นานมาก หินที่สลายตัวผุกร่อนนี้จะมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อผสมรวมกับซากพืช ซากสัตว์ น้ำ อากาศ ก็กลายเป็นเนื้อดินซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของดิน
จุดประสงค์นำทาง

1. สามารถให้คำนิยามของดินได้
2. ระบุที่มาของทรัพยากรดินได้
3. แจกแจงองค์ประกอบของดินได้ พร้อมทั้งบอกองค์ประกอบได้
4. อธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ควบคุมการเกิดดินได้ พร้อมทั้งบอกตัวอย่าง
องค์ประกอบ
5. บอกความสำคัญของดินได้
6. ยกตัวอย่างปัญหาของดินได้ และเสนอแนะการแก้ปัญหาได้

ปัจจัยที่ควบคุมการเกิดของดิน
1.ลักษณะภูมิอากาศ อาจมีส่วนทำให้เกิดการผังทลายของดินหรือเกิดการทับทมของดิน
2.ภูมิอากาศ มีส่วนทำให้เกิดการผุผังการสลายตัวของแร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุของดินได้เร็วหรือช้า และทำให้การชะล้างธาตุในดินมากหรือน้อยได้เป็นต้น
3.วัตถุต้นกำเนิดของดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติแตกต่างกันทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มากน้อยต่างกัน
4.สิ่งมีชีวิตในดิน มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดิน เช่น ทำให้เกิดดินร่วนซุยจากการกระทำของสัตว์บางชนิด เป็นต้น
5.กาลเวลา ทำให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนแปลงและความอุดมสมบูรณ์ของดินก็เปลี่ยนแปลง
ความสำคัญของดิน
1. มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ให้ธาตุอาหารแกพืช
2. มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
3. มีความสำคัญต่อสัตว์ เช่น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด



ประโยชน์ของดิน
ดินมีประโยชน์มากมายมหาศาลต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ
1. ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม เพราะดินเป็นต้นกำเนิดของการเกษตรกรรมเป็นแหล่งผลิตอาหารของมนุษย์ ในดินจะมีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารรวมทั้งน้ำที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช อาหารที่คนเราบริโภคในทุกวันนี้มาจากการเกษตรกรรมถึง 90%
2. การเลี้ยงสัตว์ ดินเป็นแหล่งอาหารสัตว์ทั้งพวกพืชและหญ้าที่ขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด เช่น งู แมลง นาก ฯลฯ
3. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แผ่นดินเป็นที่ตั้งของเมือง บ้านเรือน ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมของชุมชนต่าง ๆ มากมาย
4. เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เนื้อดินจะมีส่วนประกอบสำคัญ ๆ คือ ส่วนที่เป็นของแข็ง ได้แก่ กรวด ทราย ตะกอน และส่วนที่เป็นของเหลว คือ น้ำซึ่งอยู่ในรูปของความชื้นในดินซึ่งถ้ามีอยู่มาก ๆ ก็จะกลายเป็นน้ำซึมอยู่คือน้ำใต้ดิน น้ำเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมลงที่ต่ำ เช่น แม่น้ำลำคลองทำให้เรามีน้ำใช้ได้ตลอดปี

ชนิดของดิน

อนุภาคของดินจะรวมตัวกันเข้าเกิดเป็นเม็ดดิน อนุภาคเหล่านี้จะมีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดเล็กที่สุดคืออนุภาคดินเหนียว อนุภาคขนาดกลางเรียกอนุภาคทรายแป้ง อนุภาคขนาดใหญ่เรียกว่า อนุภาคทรายเนื้อดิน จะมีอนุภาคทั้ง 3 กลุ่มนี้ผสมกันอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันทำให้เกิดลักษณะของดิน 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ดินเหนียว ดินทราย และดินร่วน
1. ดินเหนียว เป็นดินที่เมื่อเปียกแล้วมีความยืดหยุ่น อาจปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี มีความสามารถในการจับยึดและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้สูง หรือค่อนข้างสูง เป็นดินที่มีก้อนเนื้อละเอียด เพราะมีปริมาณอนุภาคดินเหนียวอยู่มาก เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน
2. ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เพราะความสามารถในการจับยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ชั้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งอาหารและน้ำเป็นดินที่มีเนื้อดินทรายเพราะมีปริมาณอนุภาคทรายมาก
3. ดินร่วน เป็นดินที่มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือ ยืดหยุ่นได้บ้าง มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกในธรรมชาติมักไม่ค่อยพบ แต่จะพบดินที่มีเนื้อดินใกล้เคียงกันมากกว่า
สีของดิน สีของดินจะทำให้เราทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ปริมาณอินทรียวัตถุที่ปะปนอยู่และแปรสภาพเป็นฮิวมัสในดิน ทำให้สีของดินต่างกันถ้ามีฮิวมัสน้อยสีจะจางลงมีความอุดมสมบูรณ์น้อย
ลักษณะโครงสร้างที่ดีของดิน ได้แก่ สภาพที่เม็ดดินเกาะกันเป็นก้อนเล็ก ๆ อยู่รวมกันอย่างหลวม ๆ ตลอดชั้นของหน้าดิน
ปัญหาทรัพยากรดิน
ดินส่วนใหญ่ถูกทำลายให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หรือตัวเนื้อดินไปเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ และการสูญเสียตามธรรมชาติทำให้เราไม่อาจใช้ประโยชน์จากดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสูญเสียดินเกิดได้จาก

1. การกัดเซาะและพังทลายโดยน้ำ น้ำจำนวนมากที่กระทบผิวดินโดยตรงจะกัดเซาะผิวดิน ให้หลุดลอยไปตามน้ำ การสูญเสียบริเวณผิวดินจะเป็นพื้นที่กว้าง หรือถูกกัดเซาะเป็นร่องเล็ก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความแรง และบริเวณของน้ำที่ไหลบ่าลงมาก
2. การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ถางป่าทำให้หน้าดินเปิด และถูกชะล้างได้ง่ายโดยน้ำและลมเมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ชะล้างเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปกับน้ำ ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลง
3. การเพาะปลูกและเตรียมดินอย่างไม่ถูกวิธี การเตรียมที่ดินทำการเพาะปลูกนั้นถ้าไม่ถูกวิธีก็จะก่อความเสียหายกับดินได้มากตัวอย่างเช่น การไถพรวนขณะดินแห้งทำให้หน้าดินที่สมบูรณ์หลุดลอยไปกับลมได้ หรือการปลูกพืชบางชนิดจะทำให้ดินเสื่อมเร็ว การเผาป่าไม้ หรือตอข้าวในนา จะทำให้ฮิวมัสในดินเสื่อมสลายเกิดผลเสียกับดินมาก
ดินที่เป็นกรด เกษตรกรแก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวหว่าน และไถพรวนให้เข้ากับดิน
การอนุรักษ์ดิน

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพังทลายหรือการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินนั้น จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงดินเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ตะกอนดินที่ถูกชะล้างทำให้แม่น้ำและปากแม่น้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกใช้เงินเป็นจำนวนมาก เราจึงควรป้องกันไม่ให้ดินพังทลายหรือเสื่อมโทรมซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการอนุรักษ์ดิน
1. การใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม การปลูกพืชควรต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน การปลูกพืชและการไถพรวนตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ควรจะสงวนรักษาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้ในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการเพาะปลูกมีอยู่จำนวนน้อย
2. การปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เช่น การใส่ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก การปลูกพืชตะกูลถั่ว การใส่ปูนขาวในดินที่เป็นกรด การแก้ไขพื้นที่ดินเค็มด้วยการระบายน้ำเข้าที่ดิน เป็นต้น
3. การป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน ได้แก่ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชบังลม การไถพรวนตามแนวระดับ การทำคันดินป้องกันการไหลชะล้างหน้าดิน รวมทั้งการไม่เผาป่าหรือการทำไร่เลื่อนลอย
4. การให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน การระบายน้ำในดินที่มีน้ำขังออกการจัดส่งเข้าสู่ที่ดินและการใช้วัสดุ เช่น หญ้าหรือฟางคลุมหน้าดินจะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

ทรัพยากรมนุษย์

มนุษย์อาศัยอยู่ในธรรมชาติและถูกควบคุมโดยธรรมชาติ แต่การที่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีมันสมองเป็นเลิศกว่าสัตว์อื่น สามารถพัฒนาไปได้ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา มนุษย์จึง
สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ทรัพยากรอื่นๆ จะมีประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์สามารถทำงานหรือใช้พลังงานของตนให้เป็นประโยชน์ได้ ส่วนสติปัญญาของมนุษย์สามารถคิดค้น ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ความเจริญด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นและเป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นหลัง พลังงานมนุษย์จะเหลืออยู่ในรูปของมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งแทนแรงมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ยานอวกาศ สมองกลต่างๆ ล้วนเกิดมาจากพลังงานทางสมองที่เป็นเลิศของมนุษย์ทั้งสิ้น หากพลังงานทางร่างกายของมนุษย์ไม่อำนวยจะด้วยความขาดแคลนโดยวิธีใดก็ตาม มรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากสติปัญญาของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ยากและคงไม่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันนี้ การคุ้มครองมนุษย์จึงต้องมุ่งเสริมสร้างพลเมืองให้เป็นคนมีประสิทธิภาพสูง มีมาตรฐานการศึกษาสูง มาตรฐานการครองชีพสูง สุขภาพสมบูรณ์ อนามัยดี อัตราการตายน้อย ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะมีประชากรส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสามารถ ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนามักมีปัญหาคุณภาพประชากร ประเทศที่กำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมีความต้องการประชากรที่มีความรู้ความสามารถ เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ ฯลฯ จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพัฒนาอย่างมาก

การสูญเสียทรัพยากรพลังงานมนุษย์ มีสาเหตุหลายประการ สรุปได้ดังนี้

1. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาพลังงานมนุษย์ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า มนุษย์ได้เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้สูญเสียพลังงานมนุษย์ไปโดยเปล่าประโยชน์

2. อุบัติเหตุ เป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียของพลังงานมนุษย์ที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอุบัติเหตุด้านการเดินทาง นำมาซึ่งความเสียหายทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย จิตใจ และชีวิตเป็นจำนวนมาก

3. ปัญหาอาชญากรรมและศีลธรรม มนุษย์พากันก้าวหน้าในด้านวัตถุ โดยขาดความสำนึกทางศีลธรรม คุณธรรม ประกอบกับจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การต่อสู้แข่งขันเอาตัวรอด ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัวเกิดช่องว่างทางชนชั้น เนื่องจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เท่ากัน เมื่อมีคนยากจน ปัญหาอาชญากรรมก็จะตามมา

4. ความเกียจคร้านและการเลือกงาน ในประเทศด้อยพัฒนาทั่วๆ ไป พบว่าประชาชนมีความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นในการประกอบกิจการงาน และมักเลือกงานที่สบาย ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอำนวย มีอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งไม่มีภัยอันตรายต่างๆ จากธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ไม่ได้นำพลังงานที่มีมาใช้อย่างเต็มที่

5. ภัยธรรมชาติ ปรากฎการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ย่อมทำให้พลังงานมนุษย์สูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ และยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อทรัพยากรอื่นๆ ที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

6. การสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ สุขภาพจิตเสื่อมโทรม สิ้นเปลืองงบประมาณ ทำลายพลังงานมนุษย์อย่างปราศจากเหตุผลและไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง

7. การเพิ่มขึ้นของประชากร เป็นผลดีในแง่ของการเพิ่มพลังงานมนุษย์ แต่ไม่ได้มีผลดีเสียทั้งหมด เพราะประชากรบางกลุ่มต้องอาศัยกำลังงานจากคนอื่น เช่น เด็ก คนชรา คนพิการ คนเกียจคร้าน เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดปัญหาให้กับสังคม

วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานมนุษย์

1. ป้องกันการว่างงาน

2. ป้องกันการเจ็บป่วย

3. การป้องกันการหย่อนสมรรถภาพช

4. ป้องกันการแก่ก่อนวัย

5. ป้องกันการตาย

6. การจัดการศึกษาให้ทั่วถึง

7. จัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

8. พัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม
ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ในปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติได้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากในสองลักษณะ คือ ประการแรก ทรัพยากรธรรมชาติลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะทรัพยากรชนิดนั้นถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์น้ำ เป็นต้น หรือได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้จำนวนลดลง เช่น การลดลงของสัตว์ป่า สัตว์ชายเลน เป็นต้น และ ประการที่สอง คุณภาพของทรัพยากรลดลงไปด้วยสาเหตุจากการนำมาใช้ประโยชน์ผิดวิธีได้รับสารปนเปื้อนหรือโดยธรรมชาติเอง เช่น ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากการกระทำของมนุษย์ และธรรมชาติเป็นสำคัญ
1. ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเนื่องมาจากมนุษย์ มนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติพอสรุปได้ดังนี้ 1.1 การเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่น ในปี 2516 โลกมีประชากร 3,860 ล้านคน (สมศักดิ์ โชคนุกูล, 2531) ปี 2533 เพิ่มเป็น 5,321 ล้านคน เพิ่มเป็น 6,292 ล้านคน ในปี 2543 (สถาบันประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533) และปัจจุบันมีจำนวนถึง 6,410 ล้านคน เป็นอัตราเพิ่มสูงถึงประมาณปีละ 80 - 90 ล้านคน ทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรกับโอกาสการได้ใช้ทรัพยากรมีแนวโน้มลดลงตลอดเวลา (คิดได้จากการนำปริมาณทรัพยากรเป็นตัวตั้งและหารด้วยจำนวนประชากร) แม้กระทั่งทรัพยากรประเภทอาหารซึ่งมนุษย์สามารถผลิตได้เอง การเพิ่มจำนวนประชากรเหล่านี้มีจุดน่าสนใจคือ อัตราการเพิ่มสูงในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มในอัตราต่ำมาก คาดกันว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวน 1,214 ล้านคน ในปี 2533 จะเพิ่มเป็น 1,274 ล้านคน ในปี 2543 และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีประชากรจำนวน 4,107 ล้านคน ในปี 2533 จะเพิ่มเป็น 5,018 ล้านคนในปี 2543 และ 5,300 ล้านคนในปี 2550 การเพิ่มจำนวนประชากรเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าทรัพยากรธรรมชาติจะถูกขุดค้นหาและนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนประชากรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา จำนวนเกือบ 1,000 ล้านคน ในระยะเวลาสั้นเพียง 10 ปีเท่านั้น ประชากรเหล่านี้มีความสามารถในเชิงอุตสาหกรรมค่อนข้างต่ำ การพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจำนวนมากของประชากรกลุ่มนี้อาศัยในเขตร้อนซึ่งมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก การทำลายทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า การเสื่อมโทรมของดิน จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
1.2 การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นระบบเศรษฐกิจได้พัฒนาในลักษณะการขยายตัวมากขึ้น เพื่อคนจำนวนมากสามารถได้รับการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขนั่นหมายความว่าระบบเศรษฐกิจจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ตลอดจนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่น ๆ ซึ่งได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นอันดับแรก และถ้าหากต้องการให้มาตรฐานการดำรงชีพสูงขึ้นอีก นั่นหมายความว่าต้องเพิ่มอัตราการบริโภคต่อหัวให้สูงขึ้น และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตให้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ทัน จึงเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอัตราการผลิตสูง เมื่อมนุษย์เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงใด ก็เป็นการเพิ่มความสามารถในการทำลายทรัพยากรมากขึ้นนั่นเอง เพราะวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต ตลอดทั้งระบบการแลกเปลี่ยนผลผลิต ส่วนมากได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลนทรัพยากรแต่ละชนิดในอนาคตยิ่งมีช่วงเวลาหดสั้นเข้ามาเร็วขึ้นกว่าที่คาดคะเนไว้แต่เดิมมาก
ทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการขยายตัวทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรอากาศ ทรัพยากรแร่ธาตุ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เป็นต้น ปัญหาดินเสื่อมสภาพซึ่งเนื่องมาจากการที่มนุษย์ได้ทำการเพาะปลูกในที่ดินซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ทำให้แร่ธาตุและอินทรีย์สารจากดินหมดไปกลายเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่นการปลูกพืชไร่ที่ไม่มีปมรากที่สร้างไนโตรเจนตามธรรมชาติหรือที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่วบนพื้นดินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีมีผลทำให้ดินเสื่อม ทั้งนี้เพราะการปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานาน พืชจะใช้ธาตุอาหารตามธรรมชาติในดินซ้ำชนิดเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดินขาดธาตุอาหารบางประเภท จึงเป็นเหตุให้มีผลผลิตกต่ำ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการซับน้ำทำให้มีน้ำไหลบ่าหน้าดินมากขึ้น และอัตราการพัดพาดินจะสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ในวงการเกษตรแล้วว่า พืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นพืชที่ทำให้ดินเสื่อมเร็วกว่าปกติ ปัญหาอันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีการบุกเบิกนำมาใช้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาตามการขยายตัวของการอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่นั้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอื่นเสมอ เช่น

(1) การทำลายป่าไม้ การทำเหมืองแร่บนบกนั้นต้องมีการถางป่าเพื่อทำการขุดหรือระเบิดหินเปิดหน้าแหล่งแร่ในพื้นที่ป่าไม้ การทำลายป่านี้เองที่เป็นสาเหตุให้เกิคความแห้งแล้งหรือทำให้เกิดน้ำท่วมในภายหลัง

(2) การทำลายดิน เนื่องจากการทำเหมืองแร่จำเป็นจะต้องมีการขุดเจาะ ระเบิดหรือฉีดน้ำ เพื่อให้ได้แร่ออกมา ดังนั้นพื้นที่หลังจากการทำเหมืองแล้วจึงมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อและไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้อีกเลย เพราะดินชั้นบนซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ถูกทำลายหมดไปแล้ว

(3) การทำลายแหล่งน้ำ เนื่องจากตะกอนดินที่เกิดจากการทำเหมืองจะทับถมกันทำให้เกิดการตื้นเขินของทางน้ำธรรมชาติ น้ำจะขุ่นขึ้น ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคไม่ได้ เมื่อถึงฤดูฝนลำน้ำไม่สามารถที่จะรับน้ำได้หมด จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นอันตรายต่อเกษตรกรรมรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่าและมนุษย์ผู้ใช้น้ำนั้น

(4) การทำลายสัตว์น้ำ น้ำขุ่นที่ปล่อยจากเหมืองแร่ลงสู่แหล่งน้ำนั้นจะมีผลต่อสัตว์น้ำ เพราะจะไปทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และอากาศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำทุกชนิด นอกจากนี้การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการพัฒนาการเกษตรด้วยระบบชลประทาน เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรดิน เป็นต้น
1.3 วิถีทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและค่านิยมของมนุษย์แต่ละกลุ่มต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงไป เช่น การทำการเกษตรกรรมแบบไร่เลื่อนลอยของชาวเขาและประชากรในเขตร้อนทั่วโลก เกิดการทำลายป่าไม้บริเวณต้นน้ำเป็นจำนวนมาก วัฒนธรรมการบริโภคของชนชาติตะวันตกที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ประหยัดและเกินความจำเป็น การบ่งบอกฐานะทางสังคมโดยการแสดงออกทางวัตถุดังเช่น การสร้างบ้านเรือนขนาดใหญ่ใช้วัสดุสิ้นเปลือง การครอบครองรถยนต์หรือยานพาหนะอื่นจำนวนมาก การใช้กริชสืบตระกูลของชาวอาหรับซึ่งจะแสดงฐานะของตระกูลไว้ที่ด้ามและฝักของกริช คนที่ร่ำรวยและตระกูลสูงจะทำจากนอแรด ส่วนคนธรรมดาทำจากงาช้าง ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีผลต่อการลักลอบฆ่าสัตว์สองชนิดนี้ในทุ่งหญ้าของอาฟริกาอย่างกว้างขวาง หรือค่านิยมในสังคมไทยดั้งเดิมที่มีการยกย่องเกษตรกรที่เตรียมดินโดยการแผ้วถางให้เตียนโล่งว่าเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร บางคนเชื่อว่าการเผาซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวนั้นเป็นสิ่งดี การกระทำเหล่านี้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
1.4 ปัญหาเนื่องมาจากการรักษาความมั่นคง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีภาวะล่อแหลมทางการเมืองท เช่น กรณีความขัดแย้งกับประเทศข้างเคียง ความขัดแย้งในความเชื่อของลัทธิการเมือง เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความมั่นคงของประเทศ มีการตัดเส้นทางลำเลียงกำลังพล อาวุธ อาหารและยุทโธปกรณ์ ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นที่สูงมีป่าไม้หนาแน่นจะเป็นการสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็วทั้งในขณะดำเนินการและหลังจากวิกฤตการณ์ยุติลงแล้วก็ตาม ถ้าเหตุการณ์ลุกลามจนเกิดเป็นสงคราม ยิ่งจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากสงครามเวียดนาม ป่าไม้ถูกทำลายอย่างกว้างขวางจากการใช้สารเคมีของสหรัฐอเมริกา เพื่อไม่ให้เวียดนามมีที่หลบภัยและสามารถมองเห็นเป้าหมายได้ง่ายโดยเฉพาะบนเส้นทางสายโฮจิมินห์ และล่าสุดจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทรัพยากรน้ำมันถูกทำลายอย่างมากมาย จากการเผาบ่อน้ำมันในคูเวต 874 บ่อโดยทหารอิรัคและใช้เวลาในการดับไฟนานถึง 6 เดือน นอกจากนี้คราบน้ำมันจำนวนมากได้แพร่กระจายลงสู่อ่าวเปอร์เซียส่งผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างมหาศาล
นอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายประการ เช่น การกีฬาล่าสัตว์ การตกปลา ถ้าทำในฤดูกาลไม่เหมาะสมจะทำลายทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์น้ำโดยตรง กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์ก่อปัญหาความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรธรรมชาติเสมอ จากการทิ้งขยะมูลฝอย การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การคมนาคมขนส่งก็เป็นอีกประการหนึ่งที่สร้างผลเสียหายให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างจนกระทั่งเปิดใช้งานการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ล้วนแต่ต้องการพื้นที่เพื่อการก่อสร้างเส้นทางและสถานีบริการจำนวนมากอีกด้วย การสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แรงกระตุ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การสร้างสนามกอล์ฟ เพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยว เป็นอีกสาเหตุที่สำคัญด้วยความบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้เกิดการฉวยโอกาสและกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดทั้งนโยบายของรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางนโยบายอาจผิดพลาดหรือขาดการเอาจริงเอาจัง ทำให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติได้

ทรัพยากรอากาศ


ธรรมชาติของทรัพยากรอากาศที่เหมือนกับทรัพยากรน้ำและดิน คือ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพื้นโลก เมื่อเริ่มแรกที่บรรยากาศปรากฎขึ้นในโลก เชื่อว่าปรากฏในรูปของส่วนผสมของก๊าซที่เป็นอันตรายประเภทมีเทน และแอมโมเนีย เมื่อเวลาผ่านพ้นไปเป็นล้านๆ ปี ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางธรณี ก๊าซต่างๆ เหล่านี้ได้จางหายไปจากบรรยากาศและถูกแทนที่ด้วยก๊าซอื่น ซึ่งถูกปล่อยออกมาระหว่างการระเบิดของภูเขาไฟ สำหรับออกซิเจนถูกเพิ่มเข้ามาในบรรยากาศครั้งแรกด้วยการแตกตัวของไอน้ำ ต่อมาโดยพืชผู้เป็นตัวประกอบกริยาสังเคราะห์แสง บรรยากาศทุกวันนี้ประกอบไปด้วยก๊าซต่างๆ มากมายหลายชนิด รวมทั้งสารที่เป็นเกล็ดละอองของของแข็งและของเหลวในปริมาณแตกต่างกันไป โดยทั่วไปและโดยประมาณแล้วการผสมของก๊าซต่างๆ ในบรรยากาศจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกหนทุกแห่ง และในสัดส่วนของส่วนผสมของก๊าซต่างๆ เท่าๆ กัน ทั้งนี้หมายรวมถึงในบรรยากาศตั้งแต่พื้นผิวโลกขึ้นไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 80 กิโลเมตร โดยปริมาณแล้ว ไนโตรเจนคือก๊าซที่ปรากฏในสัดส่วนร้อยละ 78.08 ในบรรยากาศหนึ่งหน่วยปริมาตร โดยมีออกซิเจนร้อยละ 20.95 และสัดส่วนองค์ประกอบที่เหลืออีก ร้อยละ 0.97 คือ ก๊าซอาร์กอน และคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณและการปรากฏของก๊าซเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของเวลาสถานที่ และองค์ประกอบทางกายภาพของอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น และลม เป็นต้น อากาศมีความสำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ถ้าหากไม่มีอากาศทุกชีวิตต้องตายหมด นอกจากนั้น อากาศยังมีอิทธิพลเหนือสิ่งมีชีวิตอีกหลายประการ เช่น ควบคุมลักษณะและความแตกต่างของดิน พืช และสัตว์ในสถานที่ต่างกัน, สร้างภัยพิบัติรุนแรงให้มนุษย์ได้ , ควบคุมปริมาณน้ำ อาหาร และพลังงานเชื้อเพลิงต่างๆ เป็นต้น

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมมีทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น อากาศ ดิน หิน แร่ธาตุ น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทร พืชพรรณสัตว์ต่าง ๆ ภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเสริมสร้างและทำลาย จะเห็นว่า ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ต่างกันที่สิ่งแวดล้อมนั้นรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่รอบตัวเรา ส่วนทรัพยากรธรรมชาติเน้นสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่าสิ่งอื่น

ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก. ทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งตามลักษณะที่นำมาใช้ได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วไม่หมดสิ้น ได้แก่
1) ประเภทที่คงอยู่ตามสภาพเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย เช่น พลังงาน จากดวงอาทิตย์ ลม อากาศ ฝุ่น ใช้เท่าไรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหมด
2) ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น ที่ดิน น้ำ ลักษณะภูมิประเทศ ฯลฯ ถ้าใช้ไม่เป็นจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในที่เดิม ย่อมทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ได้ผลผลิตน้อยลงถ้าต้องการให้ดินมีคุณภาพดีต้องใส่ปุ๋ยหรือปลูกพืชสลับและหมุนเวียน
2. ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วหมดสิ้นไป ได้แก่
1) ประเภทที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ได้ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า ประชากรโลก ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำเสียจากโรงงาน น้ำในดิน ปลาบางชนิด ทัศนียภาพอันงดงาม ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้
2) ประเภทที่ไม่อาจทำให้มีใหม่ได้ เช่น คุณสมบัติธรรมชาติของดิน พร สวรรค์ของมนุษย์ สติปัญญา เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติ ไม้พุ่ม ต้นไม้ใหญ่ ดอกไม้ป่า สัตว์บก สัตว์น้ำ ฯลฯ
3) ประเภทที่ไม่อาจรักษาไว้ได้ เมื่อใช้แล้วหมดไป แต่ยังสามารถนำมายุบให้ กลับเป็นวัตถุเช่นเดิม แล้วนำกลับมาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เช่น โลหะต่าง ๆ สังกะสี ทองแดง เงิน ทองคำ ฯลฯ
4) ประเภทที่ใช้แล้วหมดสิ้นไปนำกลับมาใช้อีกไม่ได้ เช่น ถ่านหิน น้ำมันก๊าซ อโลหะส่วนใหญ่ ฯลฯ ถูกนำมาใช้เพียงครั้งเดียวก็เผาไหม้หมดไป ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ทรัพยากรธรรมชาติหลักที่สำคัญของโลก และของประเทศไทยได้แก่ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า น้ำ แร่ธาตุ และประชากร (มนุษย์)
ข. สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งเกิดจาก การกระทำของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างกำหนดขึ้น สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ จำแนกได้ 2 ชนิด คือ
1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ อากาศ ดิน ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะ ภูมิอากาศ ทัศนียภาพต่าง ๆ ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล มหาสมุทรและทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด
2) สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพหรือชีวภูมิศาสตร์ ได้แก่ พืชพันธุ์ธรรมชาติต่าง ๆ สัตว์ป่า ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเราและมวลมนุษย์

สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ หรือมนุษย์เสริมสร้างขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มนุษย์เสริมสร้างขึ้นโดยใช้กลวิธีสมัยใหม่ ตามความเหมาะสมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ รถยนต์ พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ฝนเทียม เขื่อน บ้านเรือน โบราณสถาน โบราณวัตถุท อื่น ๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ค่านิยม และสุขภาพอนามัย
สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1) มนุษย์
2) ธรรมชาติแวดล้อม มนุษย์ เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าสิ่ง อื่น เช่น ชอบจับปลาในฤดูวางไข่ ใช้เครื่องมือถี่เกินไปทำให้ปลาเล็ก ๆ ติดมาด้วย ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย ส่งเป็นสินค้า หรือเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกปล่อยของเสียจากโรงงานและไอเสียจากรถยนต์ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (น้ำเน่า อากาศเสีย) ธรรมชาติแวดล้อม ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เช่น แม่น้ำที่พัดพาตะกอนไปทับถมบริเวณน้ำท่วม และปากแม่น้ำต้องใช้เวลานานจึงจะมีตะกอนมาก การกัดเซาะพังทลายของดินก็เช่นเดียวกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากแรงภายในโลก เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อื่น ๆ ได้แก่ อุทกภัยและวาตภัย ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งภัยธรรมชาติดังกล่าวจะไม่เกิดบ่อยครั้งนัก
สรุป มนุษย์เป็นตัวการสร้าง และทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าธรรมชาติ ความสำคัญของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
สหรัฐอเมริกา ได้ส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Resources Technology Satellite หรือ ERTS) ดวงแรกของโลกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ดาวเทียมนี้จะโคจรรอบโลกจากขั้วโลกเหนือไปทางขั้วโลกใต้รวม 14 รอบต่อวันและจะโคจรกลับมาจุดเดิมอีกทุก ๆ 18 วัน ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมจะมีทั้งรูปภาพและเทปสมองกลบันทึกไว้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของโลก ส่วนประเทศไทยก็ได้รับข้อมูล และภาพที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การสำรวจทางธรณีวิทยา ป่าไม้ การชลประทาน การประมง หลังจากที่สหรัฐส่งดาวเทียมดวงแรกได้ 1 ปีแล้ว ได้ส่งสกายแล็บ และดาวเทียมตามโครงการดังกล่าวอีก 2 ดวง ในปี พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2522 นับว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาความรู้ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและการวางโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดบนพื้นโลก ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ป่าและปลา น้ำ ดิน อากาศ แร่ธาตุ มนุษย์และทุ่งหญ้า